ชำแหละบ่อกรอง ลองแล้ว 4 ปี น้ำไม่ขุ่น

เข้าสู่ EP.3 ตอนสุดท้ายของบทความ บ่อน้อยๆ ของหนอนบัณฑิต แล้วนะครับ บทความนี้จะบอกตั้งแต่กรองเริ่มต้นของการเลี้ยงจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผมก็ปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ นึกอันไหนได้ก็เริ่มทำ

[บทความ EP.1จากปลาทองตู้24นิ้วสู่บ่อปลาคราฟ6ตัน 

[บทความ EP.2แบบบ่อขั้นเทพปะทะช่างบ้านๆ ]

คนเลี้ยงปลาใหม่ๆ ไอเดียมักบรรเจิด คิดหลายอย่างที่อยากจะทำให้บ่อดีที่สุด แต่สิ่งที่คนส่วนมากไม่มีเลยคือเวลา !!! เริ่มเลยละกันครับ

ย้อนไปเมื่อประมาณเกือบ 6 ปีที่แล้ว ช่องที่น้ำมาจากสะดือบ่อ (จากรูปคือบ่อหมายเลข 2) เริ่มต้นเดิมทีช่องนี้มีปัญหาที่สุดตอนทำบ่อแรกๆ เพราะไม่รู้จะเอาอะไรมาเป็นวัสดุกรอง

สุดท้ายผมเลือก… JFM (Japanese Filter Mat) เพราะเหลือจากการตัดใส่ช่องกรองหมายเลข 4

ทุกคนคงนึกภาพไม่ออกว่าเป็นอย่างไร มันก็คืออวนบอลในยุคปัจจุบันที่กำลังฮิตกันอยู่นี่ละครับ เพียงแต่ของผมเป็น JFM แผ่นสี่เหลี่ยม

เลี้ยงปีแรกเนี่ยไม่เท่าไหร่ระบบกรองนี้คือน้ำใสปิ๊ง… แต่ที่ใสเพราะปลายังเล็ก กรองยังเหลือๆ พอเริ่มเข้าสู่ปีที่ 2 เอาแล้วไงเริ่มเอาไม่อยู่ ตันเร็วมาก

ทำไมถึงรู้ว่ากรองตัน !!! เพราะน้ำช่องนั้นจะสูงมากๆเกินช่องอื่นๆไงครับ ทีนี้ละล้างมันทุก 2-3 อาทิตย์ ถามว่ามันหนักหนาอะไรไหมก็ไม่เท่าไหร่เพราะใจยังรัก 555+ แต่… เข้าปีที่ 2 อะไรๆก็เปลี่ยนไปเยอะทั้งปลาที่ใหญ่ขึ้น ของเสียในบ่อก็มากขึ้น ยกขึ้นมาล้างบ่อยขึ้น แล้ว JFM มันเริ่มอ่อนแรงย้วยซะ เห็นสภาพแล้วแบบ ในหัวนี่ไปไกลละจะหาเวลาเปลี่ยนวัสดุกรอง แต่ JFM มันยังเหลือ ผมจึงตัดมาเปลี่ยน แต่ไม่ถึง 6 เดือน เละเทะ ย้วย หลุด เนื่องจากยกขึ้นมาล้างบ่อย เลยได้ทีเอาวะ เปลี่ยนซะที !!

 

เปลี่ยนจาก JFM เป็น อวน

 

แต่อวนในเวอร์ชันหนอนบัณฑิตนั้น ไม่ใช่อวนบอลที่กำลังฮิตกันอยู่ตอนนี้นะครับ แต่เป็น อวนถุง !!! เทคนิคคืออวนผืนใหญ่ๆตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมกว้างยาวประมาณ 1.5-2 เมตร กะๆเอาครับ แล้วก็ไม่ต้องถึงกะเป็นสี่เหลี่ยม ยัดลงถุงซะ แต่ยัดเยอะแค่ไหนผมบอกไม่ได้ แล้วแต่แรงคนที่จะล้าง วิธีทดสอบคือเอาอวนยัดลงไปแล้วไปแช่น้ำแล้วลองยกขึ้นมา ถ้าไหวสบายๆกำลังดี เพราะอย่าลืมว่าเวลายกขึ้นมาล้างเนี่ยมีทั้งขี้ปลา ทั้งตะไคร่ปนอยู่

 

แรกๆ ผมใส่อัดเต็มช่องเลยประมาณ 8 ถุง มันซ้อนกันได้ประมาณ 2 ชั้น แรกๆที่ใช้ปลื้มมาก ใสจริง..แต่ยกมาล้างทีก็ใช่ย่อย 8 ถุง เอาเรื่องพอตัว แต่พอเลี้ยงไปสักระยะพบว่า เอ๊ะ… ถุงชั้นบนๆ นี่ไม่ค่อยเปื้อนเท่าไหร่ แต่ทำไมตันแล้ว !!! เลยถึงบางอ้อครับ จริงๆแล้วพอขี้ไปตันจุดใดจุดหนึ่งแล้วน้ำมันจะหาที่ๆไปได้ง่ายหากมีรูระหว่างถุงอวนมันก็จะไปตามนั้น

ผมเลยลดถุงลงเหลือแค่ 4 ถุงคือปิดเต็มหน้ากรอง 1 ชั้น ชีวิตดีขึ้นเยอะ แถมเกินคาดคือน้ำก็ใสขึ้นด้วย ถ้าอยากรู้วิธีการล้าง+ทำอวนถุุง (อ่านบทความนี้ได้เลยครับ >> ผมทำวัสดุกรองเอง งบหลักร้อย! น้ำในบ่อใสปิ๊ง! )

 

เอ่อ..ลืมบอกไปว่าผมใช้หินแม่น้ำใส่ถุงเล็กๆวางทับอวนนะครับ เพื่อไม่ให้อวนลอย แต่มาจบด้วยเวอร์ชันล่าสุดคือเอาหอยนางรมที่รวมเป็นถุงทับครับ คุณสมบัติของหอยนางรมนอกจากหนักแล้ว มันก็มีดีนะ ช่วยเป็นบัฟเฟอร์ pH ไม่ให้ pH แกว่ง ให้บ่อแข็งแรง ไม่เครียด ภูมิไม่ตก กรองช่องแรกก็จบเพียงเท่านี้ ยาวหน่อยนะครับ เพราะโมหลายรอบจริงๆ 555

มาสู่ช่องหมายเลข 3 คือ Moving bed หลายคนคงรู้จักกันดี ผมว่ามันเป็นระบบที่ดีมากๆ ระบบหนึ่ง แต่ราคาก็เอาเรื่องเลยหล่ะ ช่องนี้ปรับจูนอยู่นาน เพราะบ่อไม่ได้สร้างให้เป็น Moving bed แต่แรก ช่วงแรกใช้พลาสติกรองกรงหมามากั้นไม่ให้มันหลุดไปช่องถัดไป แต่ใช้ไปนานๆ เอ้ามันมากองอยู่ใต้จานอ๊อก หมักหมมมากๆ เอาไม้ไปเขี่ยที่ก้นทีไรฟุ้งกระจุย เลยเกิดไอเดียบรรเจิดทำกรงให้มันไปเลยแล้วเอาจานอ๊อกไปไว้นอกกรง ถ้าอยากเห็นว่าเป็นอย่างไรก็ไปดู วิดิโอ คลิก >> ทำกรงมูฟวิ่งเบด

จบกะช่องนี้ครับ 555

สั้นไหม ???

เพราะช่องนี้ปัญหามีเพียงอย่างเดียวคือเม็ดมันชอบไปอัดตามซอกเล็กๆน้อยๆ พอทำกรงให้มันหมุนอย่างอิสระได้จบเลย !!! ส่วนวัสดุไม่คิดจะเปลี่ยนอยู่แล้ว ของมันดี ซื้อมาแพง !!!

มาสู่ช่องถัดมา บ่อกรองหมายเลข 4 ครับ เดิมทีจะใช้เป็น Moving bed อีกช่องแต่ดูงบแล้วแบบ JFM เถอะถูกกว่าเยอะเลยมี Moving bed แล้วช่องนึงอันนี้ถือว่าหยวนๆน่า มันมีของที่ the best อยู่แล้วที่เหลือก็ตามงบ เลยจัด JFM มา ราคาถูกกว่ามากโข

ช่องนี้ผมใช้วิธีเย็บแบบกริด คือมีช่องว่างสี่เหลี่ยมให้น้ำผ่าน ทริคเล็กๆสำหรับช่องนี้คือการตัดและเย็บ JFM ผมใช้ลูกหนูช่างก่อสร้างข้างบ้านเร็วมากๆ แปปเดียวเสร็จ แต่อันตรายนิดนึงสำหรับคนไม่เป็นช่าง การเย็บแรกๆผมหาข้อมูลเขาใช้เอ็นใสๆ ผมลองแล้วความรู้สึกผมว่าเป็นไม่ค่อยยืดหยุ่น เย็บยาก(หรืออาจเพราะผมกากเรื่องเย็บผ้ามาก555) เลยใช้เชือกสีเขียวๆเส้นเล็กๆ ขายตามร้านวัสดุก่อสร้างหรือร้านที่มีประมาณว่าเครื่องตัดหญ้าห้อยอยู่หน้าร้านแล้วมีอาม่า อากงเป็นคนขาย เชือกนี้เย็บง่าย ไม่แข็งดึงไม่เจ็บมือ ที่สำคัญคือมันมัดปมง่ายกว่าเอ็นมากๆๆๆๆถึงมากที่สุด

 

แต่ช่องนี้ถ้าจะให้ดูไฮคลาสอย่าลืมใส่ออกซิเจนให้มันนะครับ นอกจากจะดูเท่แล้วมันยังดีต่อแบคทีเรียในช่องกรองอีกด้วย จะช่วยให้มันทำงานได้เต็มศักยภาพ แต่ๆๆๆๆๆๆๆ การวาง JFM นั้นสำคัญนะครับ วางยังไงก็ได้ให้ใกล้ผิวน้ำมากที่สุด เพราะผิวน้ำนั้นจะมีออกซิเจนละลายอยู่มากกว่าบริเวณน้ำลึกๆ ถ้าจะให้แนะนำก็สูง 50 cm ก็พอ ทำไมต้อง 50 ??? โปรไหนกล่าว ??? ไม่มีหรอกครับ เพราะแผ่น JFM ที่ซื้อๆกันมานยาว 2×1 m มันแบ่งครึ่งพอดี !!! สามารถใช้ได้ครบทั้งแผ่น แต่ใครอยากทำเกินกว่านั้นก็ได้ครับ ^^

มาสู่กรองช่องสุดท้ายครับ เบสิกเหมือนคนทั่วไป ปั๊มและยูวี แต่สิ่งที่อยากแนะนำยูวีสำหรับจุ่ม เคยไหมปัญหาที่ชอบมีไอน้ำมาเกาะที่หลอด ??? ถอดมาเช็ดๆ ซวยๆ หน่อยถอดมาหลอดแตก !!! เอ้าเสียเงินละ มีทริคง่ายๆครับยกแผงวงจรให้เหนือน้ำ ห้ามจม เพราะแผงวงจรจะมีความร้อน มันจะทำให้เกิดหยดน้ำเกาะที่ผิวหลอดได้

ทิ้งท้ายยยยย !!!

หมดแล้วครับกับช่องกรองทั้ง 5 ของหนอนบัณฑิต ลองหาๆ ดูคลิปบ่อผมได้ครับ สะดือบ่อผมจะแปลกๆหน่อย แต่แรงดูดขี้นี่กระจุย !!! คิดดูครับบ่อผมไม่มีสโลป แต่ไม่มีขี้ปลาค้างพื้น อันนี้ไม่บอก แต่ลองไปดูเอาครับ เห็นแล้วถ้างงอินบ็อกมาถามได้ครับ

สุดท้ายนี้แค่อยากจะบอกว่าอย่าไปยึดติดกับบ่อกรอง 1/3 ของบ่อเลี้ยง เพราะนี่มันก็ปี 2018 แล้ว วัสดุกรองไปถึงต่อไหนแล้ว ถามว่ากรองใหญ่ดีไหม ก็ดี เลี้ยงปลาได้เยอะขึ้น แต่ถ้าเลี้ยงพอดีๆ เอาปริมาตรไปเติมในบ่อเลี้ยงจะดีกว่า ได้บ่อกว้างๆปลาอยู่สบายๆ บ่อผม 6 ตันกว่า กรองมีเพียง 1 ตันนิดๆ น้ำก็ใสดี ค่าแอมโมเนีย ไนเตรท ไนไตรท์ก็ปกติต่ำสุดทุกอย่างจากที่วัดทุกเดือนเป็นเวลา 3 ปี

อาหารวันละ 2 ขีด (ปัจจุบัน) แต่ผมล้างกรองช่องแรกทุก 2-3 อาทิตย์นะครับ ล้างใหญ่ปีละครั้ง ผมไม่ได้เก่งกว่าใครหรอกครับ เริ่มจาก 0 เหมือนทุกๆคน พยายามอ่านทุกอย่างที่มีในอินเตอร์เน็ต แต่มากระจ่างเรื่องระบบก็เพราะคนที่เลี้ยงมาก่อน คนที่มีประสบการณ์ ระบบกรองไม่มีอันดีที่สุดหรอกครับ เพราะวัสดุกรองมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แต่ระบบที่เหมาะกับบ่อของเรานี่สิ หามันให้เจอครับ แล้วจะมีความสุขในการเลี้ยง ขอบคุณที่อ่านกันมาจนบรรทัดสุดท้ายนี้

ขอบคุณจริงๆ ครับ

กอล์ฟ หนอนบัณฑิต